โรคปวดหลังสุดฮิต ที่มักพบเจอในพนักงานออฟฟิศ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม !

posted in: Blog | 0

เชื่อว่าอาการปวดหลัง เป็นปัญหาสุขภาพที่มักพบบ่อยในคนวัยทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนทำงานออฟฟิศที่ต้องนั่งอยู่กับที่ และจ้องจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมได้มากกว่ากลุ่มอื่น ส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกิดจากการอักเสบ และเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการปวดคอ ปวดตามตัว รวมถึงการปวดหลังเรื้อรังตามมา ซึ่งการปวดหลังเรื้อรังถือเป็นลักษณะอาการสำคัญอย่างหนึ่งของโรคออฟฟิศซินโดรมนั่นเอง ดังนั้น ในบทความนี้เราอยากจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโรคปวดหลังสุดฮิต ที่มักพบเจอในพนักงานออฟฟิศ มาฝากกันค่ะ รวมไปถึงยังพาไปดูสาเหตุ อาการ การรักษา และการป้องกัน เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี และไม่ปวดหลังจนมากเกินไปค่ะ

โรคปวดหลังสุดฮิต ที่มักพบเจอในพนักงานออฟฟิศ

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คือกลุ่มอาการที่เกิดจากการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใช้ท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จนทำให้เกิดความผิดปกติของระบบในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบกระดูก เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ หรือดวงตา ที่ต้องรับบทหนักขณะทำกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งออฟฟิศซินโดรมมักจะเกิดขึ้นในคนทำงานที่อยู่ในวัย 30-40 ปี แต่ปัจจุบันการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ไม่ใช่จำกัดแค่พนักงานออฟฟิศหรือคนทำงานทั่วไป คนรุ่นใหม่ต่างต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการศึกษาตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้ออฟฟิศซินโดรมเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในวัย 20 ปีหรือน้อยกว่านั้น รวมถึงผู้สูงอายุที่ปัจจุบันหันมาใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มากขึ้นเช่นกัน

สาเหตุของการเกิดออฟฟิศซินโดรม

การปวดหลังเรื้อรังถือเป็นลักษณะอาการสำคัญอย่างหนึ่งของโรคออฟฟิศซินโดรม ที่เกิดจากการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งช้ำ เป็นเวลานาน หรืออยู่ในท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่อง แล้วยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่นได้ เช่น

  • สภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์ในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น โต๊ะหรือเก้าอี้ที่ใช้ทำงานสูงหรือต่ำจนเกินไป ไม่เหมาะกับโครงสร้างของร่างกาย เป็นต้น
  • อิริยาบถในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งนาน นั่งหลังค่อม นั่งยกไหล่ หรือแม้แต่การปรับตำแหน่งจอคอมพิวเตอร์สูงหรือต่ำจนเกินไป ส่งผลให้ต้องก้มหรือเงยจนก่อให้เกิดอาการปวดคอ และปวดหลังเรื้อรัง
  • สภาพร่างกายอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่ออาการเจ็บป่วย เช่น ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนที่ไม่เพียง การได้รับสารอาหารไม่ครบ หรือทานอาหารไม่ตรงเวลา เป็นต้น
  • คุณภาพของกล้ามเนื้อที่แย่ลงจากการขาดความเอาใส่ใจในการออกกำลังกาย

 

อาการของออฟฟิศซินโดรม

  • ปวดกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง บริเวณคอ บ่า ไหล่ หลัง และสะโพก
  • ปวด และชาที่มือ แขน จากเอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท และความผิดปกติของความตึงตัวของเส้นประสาท
  • ปวดแขน ปวดข้อมือ ข้อศอกจากกล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ
  • ปวดนิ้ว นิ้วล็อค
  • หลังยึดติดในท่าแอ่น

 

การรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรม คือ กลุ่มอาการเจ็บป่วยที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ และตัวผู้ป่วย เพราะเป็นโรคที่ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยด้วยว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงาน เพื่อให้เอื้อกับการรักษามากน้อยแค่ไหน ในเบื้องต้น การรักษาจะเน้นวิธีทางกายภาพบำบัด การปรับพฤติกรรม ซึ่งเป็นการแก้ที่ต้นเหตุของออฟฟิศซินโดรม และทำให้อาการบาดเจ็บของร่างกายในส่วนนั้น ๆ ลดลงได้ โดยวิธีการรักษา มีดังนี้

  • รักษาด้วยยา
  • ทำกายภาพบำบัดด้วยเครื่องมือกายภาพบำบัดตามความเหมาะสมของอาการเช่น อัลตร้าซาวด์ เลเซอร์รักษา การกระตุ้นไฟฟ้า และการประคบร้อน การยืดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
  • ฝังเข็ม บรรเทาอาการปวด และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
  • การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพร่างกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • การปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน ท่าทางการทำงาน และพฤติกรรมการทำงานให้ถูกต้องตามอิริยาบถ

 

การป้องกันการเกิดออฟฟิศซินโดรม

  1. การออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เน้นการออกกำลังกายที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วน โดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อ และเอ็นกล้ามเนื้อที่มักเจ็บปวดได้ง่าย
  2. การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อคลายกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานระหว่างทำงาน
  3. ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงน เช่น ปรับระดับความสูงของโต๊ะ และเก้าอี้ ให้สามารถนั่งทำงานในท่าที่สบาย ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา
  4. ระหว่างนั่งทำงานให้หยุดพักทุกหนึ่งชั่วโมง ด้วยการลุกเดิน เปลี่ยนท่าทาง เพื่อให้ร่างกายได้พักไปในตัว
  5. กายบริหารเบา ๆ ด้วยอุปกรณ์ใกล้ตัว เช่น ขวดน้ำบนโต๊ะทำงาน ลูกบอลบีบบริหารมือ เป็นต้น
  6. การป้องกันด้วยอุปกรณ์พยุงต่าง ๆ ไม่ควรซื้อมาลองใช้เอง ควรปรึกษาแพทย์

 

สรุป

หากใครที่เริ่มมีอาการปวดหลัง ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงาน จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้หมาะสม ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น ลดอาการบาดเจ็บจากการทำงาน เพิ่มคุณภาพชีวิต และประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างถาวรอีกด้วย แต่ถ้าใครที่มีอาการปวดหลังหนักมาก ๆ จนทนไม่ไหว พยายามปรับพฤติกรรมแล้วแต่ก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร แนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาตามความเหมาะสมค่ะ

เกี่ยวกับ Thaidigitalprint

Thaidigitalprint เราดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับงานพิมพ์ โดย บริษัท เอ็ม.ไอ.ดับบลิว.กรุ๊ป จำกัด เรามุ่งมั่นพัฒนาทักษะด้านการพิมพ์ และรักษามาตรฐานมาโดยตลอด มั่นใจได้ว่าเรามีความพร้อมในการผลิตงานพิมพ์ที่มีคุณภาพ ด้วยประสบการณ์ทางด้านงานพิมพ์มากกว่า 29 ปี