สารบัญ
อาการปวดฝ่าเท้า เจ็บส้นเท้า ปวดอุ้งเท้า หรือบริเวณฝ่าเท้า เวลาเดิน หรือตอนลุกจากการนั่งนาน ๆ แต่สักพักอาการปวดก็จะดีขึ้น และหายไปในที่สุด อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรครองช้ำ เพราะโรครองช้ำ มักจะมีอาการเจ็บที่ส้นเท้า หรือฝ่าเท้าเวลาลุกขึ้นยืน โดยอาการเจ็บมักจะเป็น ๆ หาย ๆ และเจ็บมากขึ้นตามการใช้งาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ดังนั้น ในบทความนี้เราอยากจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโรครองช้ำให้มากขึ้น เพื่อให้รู้เท่าทัน และป้องกันการเกิดโรครองช้ำกันค่ะ
โรครองช้ำ
โรครองช้ำ (Plantar Fasciitis) หรือ โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือ พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ เป็นภาวะที่มีอาการอักเสบของเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้า โดยผู้ป่วยรองช้ำจะรู้สึกเจ็บฝ่าเท้าบริเวณฝั่งที่เหยียบลงบนพื้น ซึ่งอาการมักจะมาเป็น ๆ หาย ๆ และเจ็บมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามลักษณะการใช้งาน ในบางรายที่เป็นมานาน หรือไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาการจะเรื้อรังมากขึ้น อาจจะส่งผลร้ายแรงทำเส้นเอ็นฉีกขาดได้
สาเหตุ
โรครองช้ำ มักมาจากการใช้งานฝ่าเท้าหนักมากเกินไป จนทำให้เกิดการตึงตัวที่มากเกินของเส้นเอ็นฝ่าเท้า และอุ้งเท้าที่ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกขณะที่เราลงน้ำหนัก จนเกิดเป็นพังผืด และเกิดการอักเสบเรื้อรังสะสมมาเรื่อย ๆ
อาการ
โรครองช้ำ จะมีอาการปวดฝ่าเท้ารอบ ๆ ส้นเท้าไปถึงเอ็นร้อยหวายในช่วงแรกที่เริ่มใช้งาน เช่น ตอนตื่นนอน ตอนลุกจากการนั่งนาน ๆ ขับรถนาน ๆ หรือ เวลาที่เราไม่ได้ใช้เท้าเดินนาน ๆ และเมื่อเราทำการเดินหลังจากไม่ได้เดินเป็นเวลานาน ก็จะรู้สึกเจ็บ เป็นต้น โดยจะมีอาการปวดเหมือนมีเข็มมาแทงหรือโดนของร้อน อาการจะดีขึ้นเมื่อมีการใช้งานไปสักระยะ แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาการปวดจะเรื้อรัง และรุนแรงมากขึ้นจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้
ปัจจัยเสี่ยง
- ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรครองช้ำมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากเอ็น กล้ามเนื้อ ไขมันส้นเท้าจะบางกว่า และฝ่าเท้าไม่แข็งแรงเท้าผู้ชาย
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ทำให้ฝ่าเท้าต้องรองรับน้ำหนัก และแรงกระแทกมากขึ้น
- ผู้สูงอายุ เนื่องจากเส้นเอ็นเสื่อมและพังผืดฝ่าเท้ามีความยืดหยุ่นน้อยลง
- ผู้ที่มีฝ่าเท้าแบน หรือส่วนโค้งของเท้ามากผิดปกติ
- ผู้ที่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ
- ผู้ที่ใส่รองเท้าพื้นแข็งหรือพื้นบางเป็นประจำ
- ผู้ที่มีอาชีพยืนหรือเดินมาก ทำให้พังผืดฝ่าเท้าตึง
- นักกีฬา และผู้ที่ประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องใช้งานข้อเท้าหนัก ต้องยืน และเดินเป็นเวลานาน ตลอดทั้งวัน
การรักษา
วิธีการรักษาโรครองช้ำจะขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของโรค โดยจะเริ่มจากการใช้ยาไปพร้อม ๆ กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากยังไม่หาย จะเริ่มมีการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาช่วย ซึ่งวิธีรักษารองช้ำมีดังนี้
- ลดการเดิน ลดการใช้งาน เช่น การใช้ไม้เท้าช่วยเดิน การประคบควานเย็นหรือน้ำแข็งปรงประมาณ 20 นาที 3-4 ครั้งวัน ในตอนเย็นจะช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ดี
- การรับประทานยา เช่น ยาแก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด เป็นต้น แต่ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และระยะเวลาการรับประทานยาไม่ควรนานจนเกินไป
- การใช้เฝือกอ่อน จะช่วยลดการเคลื่อนไหวที่ข้อเท้า โดยจะใช้ในช่วงแรกเพื่อลดอาการอักเสบ
- การใช้แผ่นรองเท้า ที่มีลักษณะนิ่ม หรือสวมรองเท้าที่เหมาะสม
- การทำกายภาพบำบัด โดยแพทย์จะแนะนำการออกกำลังกายที่เป็นวิธีแก้อาการรองช้ำด้วยตัวเอง ที่สามารถช่วยลดการอักเสบของเส้นเอ็น และบรรเทาอาการปวด
- การรักษาด้วยคลื่นกระแทก มักทำในกรณีที่ทานยา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่หาย หรือต้องการให้อาการหายเร็วขึ้น
- การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่การรักษาแบบไม่ผ่าตัดเป็นระยะเวลาหนึ่งไม่สำเร็จ โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเอาพังผืดที่บริเวรฝ่าเท้าบางส่วนออก เพื่อช่วยลดความตึงของเส้นเอ็นลง
การป้องกัน
- เลือกรองเท้าที่เหมาะสม ได้แก่ รองเท้าที่ไม่รัดจนเกินไป มีส้นที่นิ่ม มีแผ่นรองรองเท้า โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่น้ำหนักเยอะ หรือใช้งานเท้าเยอะ
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อช่วยลดแรงกระแทก และแรงกดบริเวณฝ่าเท้า
- หากจำเป็นต้องสวมรองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน แนะนำให้หาเวลาพักเพื่อถอดรองเท้าและยึดกล้ามเนื้อน่อง และยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้าบ่อย ๆ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้ฝ่าเท้าเป็นเวลานาน ๆ หรือกีฬาบางประเภทที่ทำให้ฝ่าเท้ารับแรงกระแทกมาก ๆ เช่น การวิ่ง หรือการปั่นจักรยาน
- หากมีการออกกำลังโดยการวิ่งอยู่ประจำ ควรปรับท่าวิ่งให้เหมาะสม ได้แก่ ก้าวให้สั้นลง และลงน้ำหนักให้เต็มเท้า
- สำหรับผู้ที่มีฝ่าเท้าผิดรูป แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ และสั่งตัดรองเท้าพิเศษขึ้นมา เพื่อให้รองเท้าสามารถรองรับสระรี และน้ำหนักได้ดีขึ้น
สรุป
โรครองช้ำ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้น ทุกคนจึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเองอยู่เสมอ และสำหรับผู้ที่มีอาการรองช้ำ เจ็บส้นเท้า ปวดอุ้งเท้า หรือบริเวณฝ่าเท้า เมื่อลงน้ำหนักเท้า และอาการเจ็บเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมได้สะดวกเหมือนเดิม แนะนำให้รีบไปปรึกษาแพทย์ และตรวจร่างกาย เพื่อหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บให้เร็วที่สุดค่ะ
เกี่ยวกับ Thaidigitalprint
Thaidigitalprint เราดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับงานพิมพ์ โดย บริษัท เอ็ม.ไอ.ดับบลิว.กรุ๊ป จำกัด เรามุ่งมั่นพัฒนาทักษะด้านการพิมพ์ และรักษามาตรฐานมาโดยตลอด มั่นใจได้ว่าเรามีความพร้อมในการผลิตงานพิมพ์ที่มีคุณภาพ ด้วยประสบการณ์ทางด้านงานพิมพ์มากกว่า 29 ปี
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.siphhospital.com/ , https://www.synphaet.co.th/ และ https://samitivejchinatown.com/
ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.freepik.com/