สารบัญ
คอเลสเตอรอลในเลือดสูง หรือไขมันในเลือดสูง ส่วนใหญ่จะเป็นกันโดยไม่รู้ตัว เพราะจะไม่มีอาการแสดงของโรคให้เห็น แต่จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อไปตรวจร่างกาย และมีการเจาะเลือดตรวจเท่านั้น ซึ่งการที่ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักในการก่อโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน เป็นต้น ซึ่งการเกิดภาวะนี้ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน และการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม ควบคุมปริมาณ และชนิดของไขมันในอาหาร จะสามารถช่วยควบคุมระดับไขมันในเลือดได้
ซึ่งในบทความนี้เราก็จะมาแนะนำอาหารที่คนเป็นคอเลสเตอรอลสูง รับประทานได้ และช่วยลดไขมัน มาฝากกันค่ะ แต่ก่อนที่จะไปดูว่ามีอาหารอะไรบ้าง เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคอเลสเตอรอล ประเภทของคอเลสเตอรอล และสาเหตุที่ทำให้คอเลสเตอรอลสูงกันก่อนค่ะ
คอเลสเตอรอล คืออะไร?
คอเลสเตอรอล เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย มีประโยชน์ในการสร้างกรดน้ำดีสำหรับย่อยไขมันในอาหาร สร้างวิตามินดี และฮอร์โมนบางชนิด รวมทั้งเป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ต่าง ๆ โดยส่วนหนึ่งของคอเลสเตอรอลนั้นร่างกายสร้างได้เอง และอีกส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่รับประทาน ซึ่งการที่เรามีคอเลสเตอรองสูงจะเป็นปัจจัยสำคัญอันนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดได้
ประเภทของคอเลสเตอรอล
LDL (Low Density Lipoprotein) คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีหรือไขมันเลว หากมีไขมันชนิดนี้สูงจะทำให้มีการสะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ หลอดเลือดเปราะ เสี่ยงต่อการแตก และตีบตัน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด
HDL (High Density Lipoprotein) คอเลสเตอรอลชนิดที่ดีหรือไขมันดี ทำหน้าที่นำคอเลสเตอรอลที่สะสมตามผนังหลอดเลือด และตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ไปทำลายที่ตับ ช่วยลดการสะสมของไขมันในหลอดเลือด และยังช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตันอีกด้วย
สาเหตุที่ทำให้คอเลสเตอรอลสูง
- เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ หรืออาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง
- เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม และถ่ายทอดในครอบครัว
- เกิดจากโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคอ้วน ไตวาย หรือยาบางชนิด
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ ยาต้านไวรัส HIV เป็นต้น
- การดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ
- การขาดการออกกำลังกาย
อาหารที่คนคอเลสเตอรอลสูงควรรับประทาน
- เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง
- อาหารประเภทเนื้อปลา โดยเฉพาะปลาทะเล เช่น ปลาทู ปลาโอ ปลาทูน่า ปลาซาบะ ปลาแซลมอน ควรรับประทานอย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์
- ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เป็นต้น และผลิตภัณฑ์ถั่วแทนเนื้อสัตว์ เช่น เต้าหู้ โปรตีนเกษตร เป็นต้น
- ไข่ขาวของไข่ไก่ และไข่เป็ด เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดี ไม่มีไขมัน และมีแคลอรีต่ำ ถ้าต้องการรับประทานทั้งฟอง ควรรับประทานอาทิตย์ละไม่เกิน 3 ฟอง
- อาหารประเภทผักใบต่าง ๆ และผลไม้บางชนิด รวมไปถึงอาหารที่มีกากใยสูง เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง ส้ม ผักใบเขียว ข้าวกล้อง และธัญพืชต่าง ๆ
- ดื่นนม และผลิตภัณฑ์จากนมชนิดพร่องไขมันหรือขาดไขมัน แทนชนิดไขมันครบส่วน
- เลือกใช้น้ำมันถั่วเหลือง ดอกทานตะวัน มะกอก ข้าวโพด รำข้าว เมล็ดดอกคำฝอย แทนน้ำมันปาล์ม และน้ำมันมะพร้าว
- เลือกวิธีการปรุงอาหารโดยใช้การนึ่ง ย่าง อบ ยำ แทนการทอด
สรุป
สำหรับผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง นอกจากควบคุมอาหารแล้ว การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ ลดความเครียด รับประทานยาลดไขมันตามแพทย์สั่ง ตรวจเช็คระดับไขมันในเลือดสูงเป็นระยะตามนัด ก็จะช่วยให้ไขมันในเลือกเข้าสู่เกณฑ์ปกติได้ และที่สำคัญทุกคนควรตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ เพื่อตรวจหาความเสี่ยงร่วม และตรวจติดตามระดับไขมันในเลือดกันด้วยนะคะ
เกี่ยวกับ Thaidigitalprint
Thaidigitalprint เราดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับงานพิมพ์ โดย บริษัท เอ็ม.ไอ.ดับบลิว.กรุ๊ป จำกัด เรามุ่งมั่นพัฒนาทักษะด้านการพิมพ์ และรักษามาตรฐานมาโดยตลอด มั่นใจได้ว่าเรามีความพร้อมในการผลิตงานพิมพ์ที่มีคุณภาพ ด้วยประสบการณ์ทางด้านงานพิมพ์มากกว่า 29 ปี