6 โรคทางจิตเวชที่พบบ่อยในคนไทย ที่ทุกคนควรรู้

posted in: Blog | 0

ในปัจจุบันโรคทางจิตเวช หรืออาการป่วยทางจิต เป็นหนึ่งในโรคที่คนไทยป่วยกันค่อนข้างเยอะ ซึ่งบางคนก็รู้ตัว แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ และเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองแค่ป่วยทางกาย เมื่อไม่ได้เข้ารับการรักษา ทำให้อาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อให้รู้เท่าทันเกี่ยวกับอาการป่วยทางจิต จึงควรใส่ใจ และสังเกตอาการของตัวเอง และคนรอบข้างอยู่เสมอ ซึ่งในบทความนี้เราก็มี 6 โรคทางจิตเวชที่พบบ่อยในคนไทย ที่ทุกคนควรรู้ ว่าแต่ละโรคมีอาการเบื้องต้นเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ทำการป้องกัน และรักษาได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

โรคซึมเศร้า (Depression)

โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ‘เซโรโทนิน (Serotonin)’ มีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข มีแต่ความวิตกกังวล ไม่สนุกสนานกับชีวิต นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก ฝันร้ายบ่อยครั้ง ทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง โรคนี้เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยทั้งจากกรรมพันธุ์ พัฒนาการของจิตใจ และสิ่งแวดล้อมที่เผชิญ รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพ โรคนี้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจะทำให้มีปัญหาในการเข้าสังคม มีความคิดทำร้ายตนเอง และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ แต่ถ้ามารับการรักษาเร็ว อาการก็จะดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้รักษายากยิ่งขึ้น

 

โรคแพนิค (Panic Disorder)

โรคแพนิค หรือโรคตื่นตระหนก เป็นโรควิตกกังวลประเภทหนึ่งที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic Nervous System) ทำงานผิดปกติ จึงทำให้เกิดอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก ท้องไส้ปั่นป่วน วิงเวียน ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันแม้ไม่มีสาเหตุหรือมีเรื่องให้ต้องตกใจ ผู้ที่เป็นจะมีความรู้สึกกลัว ตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่กล้าออกไปไหน หมกมุ่นเรื่องสุขภาพ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ ซึ่งสาเหตุของโรคแพนิกอาจจะเกิดได้ทั้งปัจจัยทางร่างกาย ที่เกิดจากสมองส่วนควบคุมความกลัวทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดความคิด และพฤติกรรมที่ตื่นตระหนกผิดปกติไป และปัจจัยทางจิตใจ เช่น เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายหรือรุนแรงในชีวิตมา ซึ่งผู้ป่วยควรเข้าพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี

 

โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder , CAD)

โรควิตกกังวลทั่วไป เป็นโรควิตกกังวลประเภทหนึ่ง ที่มีความกังวลในเรื่องชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไปนาน และมากเกินไป เช่น เรื่องงาน ครอบครัว หรือเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ความเครียด และความวิตกกังวลที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดอาการทางร่างกาย เช่น กระวนกระวาย อ่อนเพลีย หงุดหงิด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไม่มีสมาธิ มีปัญหาการนอนหลับ ซึ่งถ้ามีความเครียดเกิน 6 เดือนถือเป็นโรคเรื้อรังทางจิตเวชที่หากไม่ได้รับการดูแลรักษา โรคนี้สามารถส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การงาน ความสัมพันธ์ และการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น และมีความเครียดมากเกินกว่าเหตุในเรื่องทั่วไป หากใครมีอาการลักษณะตามนี้ ควรเข้าไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษา

 

โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder)

โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว คือความผิดปกติทางจิตเวชที่ทำให้เกิดความแปรปรวนทางอารมณ์ โดยการแสดงออกซึ่งอารมณ์ขั้วตรงข้ามสองแบบสลับไปมาอย่างไม่สามารถควบคุมได้ ระหว่างอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ กับอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติโดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ใด ๆ ในช่วงที่อารมณ์ซึมเศร้า ผู้ป่วยมักเบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร อ่อนเพลีย มองทุกอย่างในแง่ลบ บางรายมีความคิดอยากตายซึ่งอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายจริง ๆ ได้ ซึ่งสาเหตุสำคัญของโรคไบโพลาร์เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง หรืออาจเกิดจากพันธุกรรม หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่น ความเครียด สารเสพติด การเลี้ยงดู เป็นต้น ซึ่งการรักษาเป็นการทานยาควบคุมอารมณ์ การทำจิตบำบัด และการปรับการใช้ชีวิต

 

โรคจิตเภท (Schizophrenia)

โรคจิตเภท เป็นโรคที่มีความผิดปกติของความคิด ทำให้ผู้ป่วยมีความคิด และการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น ประสาทหลอน ได้ยินเสียงหรือเห็นภาพหลอนต่าง ๆ มีพฤติกรรมแปลกไป หรือในบางรายจะมีอาการหน้านิ่งไม่แสดงความรู้สึก อารมณ์เฉยเมย ไม่ค่อยพูด ทำให้ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การดูแลตัวเอง การใช้ชีวิตในสังคม ซึ่งสาเหตุของโรคจิตเภท เกิดขึ้นได้จากกรรมพันธุ์ ยิ่งมีความใกล้ชิดทางสายเลือดกับผู้ป่วยมากยิ่งมีโอกาสสูง และสิ่งแวดล้อม ความเครียดในชีวิตประจำวัน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วย ในส่วนของการรักษาต้องเข้าพบจิตแพทย์เพื่อเข้ากระบวนการบำบัดโดยใช้ยา และการบำบัดตามความเหมาะสม

 

โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder)

โรค PTSD คือ ความผิดปกติทางจิตใจที่เกิดขึ้นหลังจากเผชิญกับเหตุการณ์คุกคามที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง หรือเผชิญเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บที่มีความเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือบางคนอาจจะไม่ได้ประสบพบเหตุร้ายด้วยตัวเอง แต่ว่าเป็นผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในสถานการณ์นั้น ๆ จนเกิดความเครียด และมีพฤติกรรมบางอย่างที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตตามมา ผู้ที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่มักจะหวนนึกถึงเหตุการณ์สะเทือนใจซ้ำ ๆ อยู่ตลอดเวลา มักจะหวาดระแวง วิตกกังวล ฝันร้าย มองโลกในแง่ร้าย หรืออารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่ายอยู่บ่อย ๆ อาการเหล่านี้จะแสดงออกมานานกว่า 1 เดือน หลังจากเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งการรักษามีการพูดคุยกับจิตแพทย์ รวมถึงการกินยารักษาตามอาการ

 

สรุป

ทั้งหมดก็เป็น 6 โรคทางจิตเวชที่พบบ่อยในคนไทย หากมีอาการหรือสัญญาณใดเข้าข่ายอย่างที่กล่าวไป การเข้าพบจิตแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา และบำบัดอาการคือทางออกที่ดีที่สุด เพราะโรคจิตเวชก็คืออาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง สามารถรักษาให้หาย หรือควบคุมอาการได้ หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี และต่อเนื่อง และสิ่งสำคัญคือคนในครอบครัว และคนรอบข้างต้องทำความเข้าใจ ผู้ป่วยก็จะสามารถกลับมาดำเนินชีวิตเป็นปกติในสังคมได้ค่ะ ทั้งนี้ก็ต้องหมั่นสังเกตอาการของตัวเอง และคนรอบข้างอยู่เสมอ เพื่อให้รู้ทันเท่าโรคจิตเวชที่อาจจะเกิดขึ้นได้ค่ะ

เกี่ยวกับ Thaidigitalprint

Thaidigitalprint เราดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับงานพิมพ์ โดย บริษัท เอ็ม.ไอ.ดับบลิว.กรุ๊ป จำกัด เรามุ่งมั่นพัฒนาทักษะด้านการพิมพ์ และรักษามาตรฐานมาโดยตลอด มั่นใจได้ว่าเรามีความพร้อมในการผลิตงานพิมพ์ที่มีคุณภาพ ด้วยประสบการณ์ทางด้านงานพิมพ์มากกว่า 29 ปี