สารบัญ
การนอนหลับ เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในชีวิตมาก ๆ เพราะการนอนหลับนั้นเป็นช่วงที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบหัวใจ และหลอดเลือดได้พักผ่อน อีกทั้งยังช่วยซ่อมแซมส่วนสึกหรอของร่างกาย และปรับสมดุลของสารเคมีต่าง ๆ ในร่างกาย แต่การนอนกรน ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ประสิทธิภาพในการนอนนั้นลดลง และเป็นอาการที่พบบ่อยมาก เกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย และการนอนกรนก็เกิดจากหลายสาเหตุ และจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละบุคคล แต่การนอนกรนในระดับรุนแรง ก็เป็นอันตรายกว่าที่คิด
อาการนอนกรนเกิดจากอะไร
การนอนกรนเกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ กล่าวคือในขณะที่คนเรานอนหลับสนิทนั้น กล้ามเนื้อต่าง ๆ ในช่องปากจะผ่อนคลาย และหย่อนลงมาปิดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ลมหายใจไม่สามารถผ่านไปยังหลอดลม และปอดได้อย่างสะดวก ส่งผลให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และเนื่องจากช่องลมถูกปิดกั้นจนเล็กลงจึงทำให้เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น โดยจะมีเสียงที่ดังมากขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนหงาย
ซึ่งเสียงกรนที่เกิดขึ้นนี้ อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่เกิดการสั่น เช่น ถ้าเกิดการสั่นที่เพดานอ่อน หรือลิ้นไก่ ก็จะทำให้เกิดเสียงกรนในลำคอ หรือถ้าเกิดการสั่นที่เนื้อเยื่ออ่อนด้านหลังโพรงจมูก ก็จะทำให้เกิดเสียงกรนแบบขึ้นจมูก เป็นต้น ทั้งนี้การนอนกรนที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถบรรเทาลงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนอาการนอนกรนระดับรุนแรงนั้นจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษา หรือการบำบัดจากแพทย์เฉพาะทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
สาเหตุการนอนกรนที่พบได้บ่อย ๆ
- น้ำหนักเกิน พบว่าผู้ที่มีน้ำหนักมากจะมีทางเดินหายใจส่วนบนแคบกว่าผู้ที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- มีอาการของโรคภูมิแพ้บริเวณจมูก
- มีสันจมูกเบี้ยวหรือคด รูปหน้าหรือคางผิดปกติ เช่น คางเล็ก คางหลุบ
- ต่อมทอนซิลโตขวางทางเดินหายใจ
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่เป็นประจำ
- การรับประทานยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง เช่น ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาคลายเครียด
- ผู้ชายมีโอกาสนอนกรนมากกว่าผู้หญิง 6-10 เท่า
- ผู้หญิงจะมีอาการนอนกรนเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าวัยหมดประจำเดือน
การนอนกรนอันตรายไหม
ปัญหาการนอนกรนนั้นมีทั้งแบบที่อันตราย และไม่อันตราย โดยจะสามารถแยกได้ด้วยอาการที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับ ดังนี้
- การนอนกรนแบบธรรมดา เป็นอาการนอนกรนเกิดจากการตีบแคบของทางเดินหายใจบางส่วนขณะนอนหลับ ซึ่งในขณะที่นอนหลับก็ยังสามารถหายใจได้ ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย แต่เสียงกรนจะสร้างความรำคาญให้กับรอบข้างเท่านั้น หรืออย่างมากอาจมีอาการคอแห้งตอนตื่นมา
- การนอนกรนแบบอันตราย เป็นอาการนอนกรนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย โดยการนอนกรนเกิดจากทางเดินหายใจที่ตีบแคบมากขึ้นเรื่อย ๆ จนปิดสนิทไปชั่วขณะ ทำให้อากาศผ่านไม่ได้ โดยจะมีอาการนอนกรนเสียงดัง แล้วหยุดเงียบไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
การนอนกรนเพียงอย่างเดียวอาจส่งผลต่อสุขภาพไม่มากนัก แต่การนอนกรนก็มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของการหายใจ คือมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ขณะนอนหลับ การนอนกรนจึงทำให้คุณภาพการนอนไม่ดี การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง และกลายเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เช่น ร่างกายอ่อนเพลีย สุขภาพจิตเสีย สมาธิ และความจำไม่ดี การเผาผลาญอาหารของร่างกายด้อยประสิทธิภาพลง ทำให้เกิดโรคอ้วน และเบาหวานได้
นอกจากนี้ อันตรายที่เกิดจากการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับยังรวมไปถึงการเกิดโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสมอง และหลอดเลือดหัวใจ อาทิ โรคความดันโลหิตสูง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคของหลอดเลือดสมอง และยังอาจทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลงส่งผลให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้
อาการที่บ่งบอกว่าอาจเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- นอนกรนดังมากเป็นประจำ จนเกิดความรำคาญต่อผู้ที่นอนร่วมด้วย
- รู้สึกนอนหลับไม่เต็มอิ่ม ตื่นบ่อย มีอาการไม่สดชื่น
- คอแห้ง
- ปวดศีรษะเป็นประจำตอนเช้า
- ง่วงนอนมากผิดปกติในระหว่างวัน
- หงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่ดี
- มีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
- มีผู้อื่นสังเกตเห็นว่าหายใจไม่สม่ำเสมอ และมีเสียงกรนดังแต่หยุดเป็นช่วง ๆ
การรักษาอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
แนวทางการรักษามีหลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิด และความรุนแรง รวมถึงสาเหตุหรือปัจจัยที่พบ ซึ่งแพทย์จะให้คำอธิบายหลังจากตรวจยืนยันในข้างตันแล้ว และพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมกับแต่ละราย
1. การดูแล และปฏิบัติตัวเบื้องต้น ได้แก่ การปรับสุขอนามัยการนอน เช่น นอนพักผ่อนให้พอเพียง เข้านอน และตื่นนอนอย่างตรงเวลาสม่ำเสมอ งดเว้นเครื่องดื่มที่มีแอลกอยอล์ก่อนนอน หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ และยาที่มีฤทธิ์กดประสาทหรือคลายกล้ามเนื้อ งดเว้นดื่มชา กาแฟ และหยุดสูบบุหรี่ในช่วงบ่าย ที่สำคัญคือ ในรายที่อ้วนหรือน้ำหนักเกินต้องลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
2. การรักษาปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมที่อาจเป็นสาเหตุ เช่น โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไชนัสอักเสบ ต่อมทอนชิลอักเสบ เนื้องอกบริเวณทางเดินหายใจ โรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ หรืออื่น ๆ ซึ่งควรได้รับการรักษาโรคเหล่านี้ควบคู่กันไป
3. การรักษาจำเพาะ แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ
- การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Positive Airway Pressure Therapy) โดยเครื่องมือที่ CPAP มีหลักการ คือ เครื่องจะเป่าลมผ่านทางช่องจมูก และหรือทางปาก เพื่อให้มีความดันลมแรงพอที่จะเปิดช่องคอ ซึ่งเป็นทางเดินหายใจส่วนต้นได้ตลอดเวลาขณะนอนหลับ การรักษาด้วยวิธีนี้อาจจะเป็นวิธีที่ได้ผล และมีความปลอดภัยสูง หากใช้เครื่องได้อย่างถูกต้อง และต่อเนื่องตลอดทุกคืน ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทดลองใช้ และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
- การใช้เครื่องมือในช่องปาก (Oral Appliance) หลักการ คือ ใส่เครื่องมือลักษณะคล้ายฟันยางหรือเครื่องดัดฟันเพื่อป้องกันลิ้นตกไป อุดกั้นทางเดินหายใจ วิธีนี้ได้ผลดีในรายที่เป็นไม่รุนแรง ปัจจุบันมีหลายชนิด ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical Treatment) การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแต่ละวิธีได้ผลดีไม่เท่ากัน และอาจมีข้อดีข้อเสียที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนต่างกัน ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตัดสินใจทุกครั้ง ซึ่งปัจจุบันก็มีวิธีการผ่าตัดหลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น การผ่าตัดจมูก การผ่าตัดต่อมทอนซิล การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน การผ่าตัดบริเวณโคนลิ้น การผ่าตัดเลื่อนกราม และขากรรไกรทั้งบนล่างมาด้านหน้า การลดเสียงกรนด้วยเทคโนโลยีใหม่ และไม่ต้องดมยาสลบ
สรุป
การนอนกรน เป็นปัญหาการนอนหลับที่สามารถจะเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย โดยอาการนอนกรนเกิดจากหลายปัจจัยทั้งความหย่อนคล้อยของกล้ามเนื้อคอ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล ซึ่งผลกระทบของการนอนกรนนั้นมีทั้งไม่อันตราย และอันตรายถึงชีวิต หากว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ถ้าปล่อยทิ้งไว้ในระยะยาว จะมีผลกระทบกับสุขภาพอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
เกี่ยวกับ Thaidigitalprint
Thaidigitalprint เราดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับงานพิมพ์ โดย บริษัท เอ็ม.ไอ.ดับบลิว.กรุ๊ป จำกัด เรามุ่งมั่นพัฒนาทักษะด้านการพิมพ์ และรักษามาตรฐานมาโดยตลอด มั่นใจได้ว่าเรามีความพร้อมในการผลิตงานพิมพ์ที่มีคุณภาพ ด้วยประสบการณ์ทางด้านงานพิมพ์มากกว่า 29 ปี
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.bumrungrad.com/ , https://www.siphhospital.com/ , https://www.nksleepcenter.com/ และ https://vitalsleepclinic.com/