สารบัญ
สำหรับน้อง ๆ มัธยมปลายที่ใกล้จะจบ และกำลังหาที่เรียนมหาวิทยาลัย Portfolio หรือ แฟ้มสะสมผลงาน นับเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้กรรมการของทางมหาวิทยาลัยมีความสนใจในตัวของน้อง ๆ ได้ เนื่องจาก Portfolio นั้นเปรียบเสมือนตัวเราโดยสังเขป ที่จะนำเสนอทั้งประวัติ การศึกษา และผลงานของเรา ซึ่งในบทความนี้เราก็มีวิธีการทำ Portfolio ให้เป๊ะปัง เข้าตากกรรมการจนร้อง ว้าว มาแนะนำให้กับน้อง ๆ ได้ลองไปปรับใช้กับ Portfolio ของตัวเองกันค่ะ เพื่อให้ได้ Portfolio ที่สวยงาม โดดเด่น และน่าสใจค่ะ
วิธีการทำ Portfolio ให้เป๊ะปัง เข้าตากรรมการจนร้อง ว้าว
Portfolio หรือ แฟ้มสะสมผลงาน คือ แฟ้มไว้รวบรวมผลงานที่น้อง ๆ เคยทำมาไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรม การเข้าร่วมแข่งขัน หรือเกียรติบัตรนั่นเอง ดังนั้น การทำ Portfolio เข้ามหาลัยที่มีเนื้อหาครบถ้วนทุกส่วน ทั้งหน้าปก คำนำ ประวัติส่วนตัว และอื่น ๆ อีกมากมายก็จะทำให้น้อง ๆ มีโอกาสได้รับความสนใจในการรับเข้าศึกษามากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การทำ Portfolio นอกจากจะแสดงถึงความสามารถของน้อง ๆ แล้ว ยังเป็นสิ่งสะท้อนถึงตัวตนของเจ้าของได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ทำ Portfolio ต้องมีอะไรบ้าง ?
หน้าปก ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้กรรมการตัดสินใจว่าจะเปิดแฟ้มเพื่อดูผลงานหรือไม่ ถ้าหากเนื้อหาภายในมีความน่าสนใจ แต่หน้าปกไม่มีความดึงดูดใจ ก็อาจทำให้คณะกรรมการมองข้ามไปได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น การทำหน้าปกจึงต้องให้ความสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ ซึ่งการทำหน้าปกควรออกแบบ Portfolio ให้มีความโดดเด่น น่าสนใจ ตรงกับธีมของคณะ/สาขาที่ได้เลือกมาเพื่อดึงดูดใจคณะกรรมการ ซึ่งสิ่งที่ควรมีบนหน้าปกของ Portfolio ประกอบด้วย 4 ส่วนคือ ชื่อจริง-นามสกุล ชื่อเล่น ชื่อโรงเรียน และชื่อมหาวิทยาลัย/คณะ/สาขา ที่ยื่นสมัคร และรูปในชุดนักเรียนที่เห็นใบหน้าชัดเจน
คำนำ คือส่วนที่จะต้องบอกถึงเหตุผลที่อยากเข้าศึกษาที่นี่ เพราะอะไร สิ่งไหนที่เป็นแรงบันดาลใจ โดยมีจุดที่สำคัญคือ จะต้องเขียนออกมาให้กรรมการอ่านแล้วรู้ว่าเราสนใจจริง ๆ เกี่ยวกับการศึกษาหาข้อมูลของคณะ และมหาวิทยาลัย เช่น คณะ/สาขานี้เรียนเกี่ยวกับอะไร น่าสนใจตรงไหน และเหมาะกับเรายังไง โดยบอกเล่าออกมาให้เห็นถึงความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และความพยายาม รวมถึงทัศนคติที่ดีต่อคณะ/สาขาที่ยื่น ซึ่งก็จะต้องใช้คำพูดในเชิงบวก แต่ไม่จำเป็นต้องเขียนยาวมากนัก แต่เน้นเนื้อหาให้สั้น และกระชับมากกว่า และไม่ควรมีจำนวนเกิน 1 หน้ากระดาษ A4
ประวัติส่วนตัว ถือเป็นการแนะนำตัวให้คณะกรรมการได้รู้จักกับเรามากยิ่งขึ้น จึงควรใส่ข้อมูลสำคัญให้ครบถ้วน เช่น รูปภาพในชุดนักเรียน ข้อมูลพื้นฐาน ความชอบ งานอดิเรก ความสามารถพิเศษ (ถ้าเกี่ยวกับคณะที่จะเข้าก็จะยิ่งดี) ข้อมูลครอบครัวที่สามารถติดต่อได้เมื่อมีปัญหา และข้อมูลการติดต่อของเราเอง เป็นต้น ซึ่งข้อมูลที่จะใส่ลงไป ควรตรวจเช็กให้ถูกต้อง และครบถ้วนที่สุด โดยเฉพาะส่วนของข้อมูลที่ใช้ในการติดต่อกลับ หากเกิดอะไรขึ้นจะได้ติดต่อกลับได้อย่างถูกต้อง และถ้าหากอยากให้ Portfolio มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ส่วนของข้อมูลเหล่านี้ยังสามารถใส่ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย
ประวัติการศึกษา เป็นส่วนที่แสดงถึงผลการเรียนที่ผ่านมาของเราว่า มีการพัฒนาขึ้นหรือลดลงอย่างไร และเกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) ด้วยว่า ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกหรือไม่ รวมถึงประวัติการเข้าศึกษาในโรงเรียนต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งความสามารถในการเรียนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คณะกรรมการใช้ตัดสินใจในการรับเข้าศึกษา ดังนั้น การเขียนจะต้องบอกรายละเอียดต่าง ๆ อย่างชื่อโรงเรียนที่จบมา ในแต่ละระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และเกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) ในแต่ละชั้นปี ทั้งนี้ถ้าหากไม่มีข้อมูลเหล่านี้มาแสดงให้เห็นก็อาจพลาดโอกาสสำคัญที่จะได้เข้าศึกษาได้
ผลการสอบวัดระดับทักษะ การใส่ผลการสอบวัดระดับด้านภาษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือภาษาอื่น ๆ ก็จะช่วยดึงดูดกรรมการได้เป็นอย่างดี เนื่องจากบางคณะ และสาขา ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นอีกหนึ่งเกณฑ์ที่คณะกรรมการจะให้ความสนใจในการรับเข้าศึกษา โดยเฉพาะคณะด้านสายภาษาศิลป์ ทำให้ถึงแม้ว่าผลคะแนนสอบวัดระดับนอกโรงเรียนจะเป็นส่วนที่ไม่ได้บังคับ แต่การที่เราใส่ผลการสอบวัดระดับเข้าไปก็สามารถช่วยเราได้
กิจกรรมที่เข้าร่วม การทำกิจกรรมในโรงเรียน ทั้งการเป็นประธานนักเรียน เป็นประธานชมรม เป็นคณะกรรมการนักเรียน หรือการเป็นตัวแทนเข้าแข่งขัน ก็สามารถใส่กิจกรรมที่เข้าร่วมลงใน Portfolio ส่วนนี้ได้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถบ่งบอกความเป็นตัวตนของเราได้ และยังแสดงถึงความสามารถพิเศษของตนเองผ่านกิจกรรมที่ได้เข้าร่วมแข่งขันได้อีกด้วย ซึ่งในการเขียนเกี่ยวกับกิจกรรม ควรคัดเลือกกิจกรรมที่โดดเด่น เข้ารอบ หรือได้รับรางวัล และเลือกใช้รูปภาพที่เห็นตัวเองขณะทำกิจกรรมนั้นได้อย่างชัดเจน สุดท้ายอธิบายรายละเอียดของกิจกรรมให้กระชับ เข้าใจง่าย และเห็นภาพ รวมถึงรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันนี้ด้วย
ผลงาน และเกียรติบัตร เป็นส่วนที่จะแสดงผลงาน รางวัล เกียรติบัตรต่าง ๆ ของเรา ที่รวบรวมตลอดการศึกษาที่ผ่านมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถพิเศษ ความกระตือรือร้น และการจัดการเวลาระหว่างการเรียน และการทำกิจกรรมได้ดี โดยการจัดเรียงผลงาน ควรเรียงจากรางวัลใหญ่ ไปรางวัลเล็ก และควรแสกนรูปภาพผลงาน แบบสี เพื่อความสวยงาม ชัดเจน ขนาดรูปภาพไม่ควรเล็กจนเกินไป จะทำให้เห็นรายละเอียดได้ไม่ชัดเจน นอกจากนี้ต้องเขียนคำบรรยายใต้ภาพด้วยว่า เราเข้าร่วมกิจกรรมหรือการแข่งขันอะไร และได้รับรางวัลอะไรมาบ้างในทุก ๆ ภาพให้กระชับที่สุด เพื่อให้สามารถเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่ควรทำในการทำ Portfolio
การจัดวาง Layout ให้เป็นสัดส่วน โดยการจัดวางหน้ากระดาษให้มีความสวยงาม เป็นสัดส่วน และมีระเบียบเรียบร้อย จะทำให้อ่านได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยเนื้อหาควรเริ่มจากประวัติส่วนตัว ประวัติผลการเรียน กิจกรรม และผลงานต่าง ๆ เรียงจากกิจกรรมหรือผลงานล่าสุด และใหญ่ ไปจนถึงกิจกรรมหรือผลงานในระดับเล็ก มีรูปแทรกอยู่บ้าง แต่ถ้ารูปเยอะเกินไปควรแบ่งจัดออกไปไว้ในหน้าของภาคผนวกเพราะจะทำให้อ่านง่ายมากขึ้น ซึ่งการทำให้ Portfolio มีความเป็นระเบียบ และอ่านได้ง่าย โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
- ตัวอักษร (Text) เป็นคำอธิบายรายละเอียดของเรา แบ่งเป็น หัวข้อ (Headline) หัวข้อย่อย (Sub-headline) และข้อความ (Text)
- รูปภาพ (Photo) ควรเป็นรูปภาพที่เห็นหน้าชัดเจน ไม่ใส่เยอะจนเกินไป ซึ่งต้องถามตัวเองให้ดีก่อนว่าภาพที่ใส่มีความจำเป็นหรือไม่
- ตาราง (Gridline) คือเส้นที่ใช้การกำหนดตำแหน่ง เพื่อให้จัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ในการทำ Portfolio ได้อย่างสวยงาม เป็นระเบียบ และสมดุล
- ระยะห่างระหว่างบรรทัด (Space) คือส่วนสำคัญที่ทำให้ข้อความน่าอ่านมากยิ่งขึ้น ซึ่งควรปรับระยะห่างให้ไม่ชิดหรือห่างจนเกินไป เพราะอาจทำให้ Portfolio มีความทางการจนเกินไปหรือสื่อสารไม่เข้าใจได้
ความถูกต้องของเนื้อหา และหลักภาษา การทำ Portfolio เข้ามหาลัย ความถูกต้องของเนื้อหา และเรื่องภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ทั้งในแง่ของการสะกดคำ และเนื้อหาภายในแฟ้ม ยิ่งเป็นภาษาไทยยิ่งต้องสะกดให้ถูกต้อง ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ความละเอียด และความเป็นระเบียบเรียบร้อย อีกทั้งยังป้องกันการเข้าใจผิดในการสื่อสารอีกด้วย และถ้าหากเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ควรสะกด และใช้ไวยากรณ์ให้ถูกต้อง ไม่ต้องใช้ศัพท์ยากก็ได้ แต่ต้องใช้ให้ถูกต้อง ในส่วนของเนื้อหาภายในแฟ้ม ไม่ควรเขียนเกินจริง คัดลอกจากที่อื่น หรือแต่งขึ้นมาเอง ซึ่งอาจจะมีโอกาสที่จะถูกคัดออกสูงมากเช่นกัน
เลือกฟอนต์ที่อ่านง่าย และกึ่งทางการ การทำ Portfolio เข้ามหาลัยให้สวยงาม ควรใช้ฟอนต์ที่อ่านง่าย ไม่เกิน 2-3 รูปแบบ โดยฟอนต์ที่แนะนำ มีดังนี้
- ไทยสารบัญ (TH Sarabun PSK) ฟอนต์ที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นทางการ แต่ไม่เรียบร้อยจนเกินไป ทำให้เหมาะกับส่วนรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ มากกว่าหัวข้อใหญ่
- อาร์เอสยู (RSU) ฟอนต์ไม่มีหัวที่ให้ความรู้สึกทันสมัย แต่ก็อ่านง่ายในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่สามารถนำมาใช้ได้เป็นอย่างดี
- พร้อม (Prompt) ฟอนต์ที่เหมาะกับใช้บริเวณหัวข้อ โดยมีลักษณะเด่นคือ ไร้หัว แต่อ่านง่าย ไม่เป็นทางการจนเกินไป สามารถนำมาใช้ได้ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
การเลือกใช้โทนสี ภายใน Portfolio เข้ามหาลัยควรใช้สีไม่เกิน 3 สี เพราะจะทำให้สามารถควบคุมโทนสีได้ง่าย ซึ่งมีวิธีการเลือกสีดังนี้
- สีประจำมหาวิทยาลัยหรือคณะที่ยื่น เพราะโดยส่วนมากแล้ว สีเหล่านี้จะมีเพียง 1-3 สีเท่านั้น และการใช้สีดังกล่าวยังแสดงถึงความตั้งใจในการทำ Portfolio เพื่อการสมัครเข้าอีกด้วย เช่น จุฬาลงกรณ์-สีชมพู ธรรมศาสตร์-สีน้ำเงิน และสีแดง เป็นต้น
- สีตามเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสีที่มีมากกว่า 1 สี และไม่แตกต่างจนเกินไป ดังนั้น สำหรับคนที่ไม่รู้จะเลือกใช้สีไหน โทนไหนมาใช้ ลองดูจากในเว็บที่ช่วยจับคู่สีได้ เช่น Color Hunt BrandColors Coolors
- สีที่ชื่นชอบ สามารถใช้สีที่ตัวเองรู้สึกว่าชอบ และถูกใจ แต่อาจจะเลือกเป็นโทนสีที่ดูสบายตา และยังสามารถอ่านตัวอักษรได้อย่างชัดเจน
สรุป
การทำ Portfolio หรือ แฟ้มสะสมผลงาน ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้การสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะนอกจากเป็นการแสดงผลงาน และความสามารถต่าง ๆ ให้คณะกรรมการได้เห็นแล้ว ยังสามารถนำตัวตน และความคิดสร้างสรรค์ที่มีใส่ลงไปใน Portfolio ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย ดังนั้น ถ้าหากว่าเรารู้เทคนิคเหล่านี้ก็จะช่วยให้การทำ Portfolio ง่ายขึ้น และถูกต้อง รับรองว่า Portfolio ของเราจะออกมาปังอย่างแน่นอน อีกทั้งยังได้ Portfolio ดี ๆ ไปเสนอต่อหน้ากรรมการเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยนั้น ๆ ได้อีกด้วย หวังว่าวิธีการทำ Portfolio ที่เราได้นำมาฝากกันนี้ จะเป็นประโยชน์กับน้อง ๆ ไม่มากก็น้อยค่ะ
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจอยากทำ Portfolio แบบให้สวยเป๊ะ ThaiDigitalPrint.com เรารับออกแบบ และผลิต Portfolio และงานพิมพ์อื่น ๆ ทุกรูปแบบ ทุกประเภท โดยไม่จำกัดจำนวนขั้นต่ำ ยิ่งพิมพ์จำนวนเยอะ ราคาต่อชิ้นยิ่งถูก เรารับประกันงานพิมพ์คุณภาพด้วยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านงานพิมพ์ ใส่ใจในทุกขั้นตอนการพิมพ์เพื่อคุณภาพของงานพิมพ์ที่ดีที่สุด
เกี่ยวกับ Thaidigitalprint
Thaidigitalprint เราดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับงานพิมพ์ โดย บริษัท เอ็ม.ไอ.ดับบลิว.กรุ๊ป จำกัด เรามุ่งมั่นพัฒนาทักษะด้านการพิมพ์ และรักษามาตรฐานมาโดยตลอด มั่นใจได้ว่าเรามีความพร้อมในการผลิตงานพิมพ์ที่มีคุณภาพ ด้วยประสบการณ์ทางด้านงานพิมพ์มากกว่า 29 ปี