โหมดสี RGB และ CMYK เป็นโหมดสีในการทำงานพิมพ์ และการออกแบบ ซึ่งทั้งสองโหมดนี้ เมื่อมองผิวเผินอาจดูไม่แตกต่างกัน เพราะเป็นโหมดสีเหมือนกัน แต่ความเป็นจริงแล้วทั้งสองโหมดสีนี้มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นที่มาของสี ลักษณะของสี และการนำไปใช้งาน ซึ่งในบทความนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับค่าสีที่แตกต่างกัน ระหว่าง RGB และ CMYK และทั้งสองโหมดสีนี้จะมีผลกับงานพิมพ์อย่างไรบ้าง ไปหาคำตอบพร้อมกันเลยค่ะ
โหมดสี RGB
RGB เป็นสีที่ใช้สำหรับการแสดงผลบนหน้าจอชนิดต่าง ๆ อย่าง หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ หน้าจอโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสี RGB ประกอบด้วยแม่สี 3 สี คือ RED (แดง), GREEN (เขียว), BLUE (น้ำเงิน) เป็นสีที่เกิดจากแสงที่มีความยาวคลื่นต่างกันมารวมตัวกันทำให้เกิดเป็นสีต่าง ๆ ซึ่งงานที่เหมาะกับโหมดสี RGB จะเป็นงานประเภท สื่อดิจิตอล เช่น งานออกแบบ เว็บไซต์ สื่อโฆษณาออนไลน์ เป็นต้น
โหมดสี CMYK
CMYK เป็นสีที่ใช้สำหรับงานพิมพ์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น โปสเตอร์ ป้ายไวนิล บรรจุภัณฑ์ หนังสือ นามบัตร ฯลฯ ซึ่งสี CMYK ประกอบด้วย 4 สี คือ CYAN (ฟ้าอมเขียว), MAGENTA (แดงอมม่วง), YELLOW (เหลือง), KEY (ดำ) เป็นสีที่เกิดจากการดูดกลืนของแสงที่สะท้อนจากวัตถุ โดยเมื่อแสงสีขาวตกกระทบกับวัตถุสีต่าง ๆ คลื่นแสงบางส่วนจะดูดกลืนไว้แล้วสะท้อนออกมาเฉพาะบางสีเท่านั้น
ค่าสีที่แตกต่างกันมีผลกับงานพิมพ์อย่างไร
การใช้โหมดสีทั้ง 2 แบบ สามารถแบ่งแยกประเภทการใช้งานได้ง่าย ๆ นั่นก็คือ ถ้าต้องการสีที่แสดงบนผลทางหน้าจอก็จะเลือกใช้ RGB เท่านั้น แต่ถ้าเป็นสีที่ต้องพิมพ์ออกมา ไม่ว่าจะพิมพ์ในรูปแบบใดก็ตาม จะต้องใช้ค่าสีของ CMYK ซึ่งสำหรับไฟล์งานที่ต้องส่งให้โรงพิมพ์ควรตั้งค่าสีให้อยู่ในโหมดสี CMYK เพื่อไม่ให้สีเพี้ยน เพราะไฟล์งานที่ตั้งค่าสีเป็นโหมด RGB เมื่อพิมพ์ด้วยโหมดสี CMYK สีที่ได้จะเพี้ยนไปจากสีต้นฉบับที่ได้มา
โดยชนิดของไฟล์งาน สำหรับส่งให้โรงพิมพ์ มีดังนี้
• PDF เซฟไฟล์แบบ High Quality Print เพื่อให้ไฟล์ละเอียดและคมชัด
• ai (illustrator) create outline font และ embed images ให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันข้อมูลเด้งหรือตกหล่น
• psd (photoshop) ควรตั้งค่าความละเอียด 300 dpi ขึ้นไป
ทั้งนี้ทุกไฟล์งาน ให้ตั้งค่าเว้นระยะตัดตกงาน และเผื่อระยะขอบงาน 3-5 mm. เพื่อให้งานพิมพ์ของคุณออกมาสวยงาม ตามแบบที่ต้องการ
Leave a Reply